การรีไซเคิลขวดพลาสติก PET มาเป็นผ้าโพลีเอสเตอร์ ทำได้อย่างไร

หนึ่งในประเภทขวดพลาสติกที่ยังถือว่ามีผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนน้อยที่สุดต้องยกให้กับขวด PET หรือ PETE (Polyethylene Terephthalate) เหตุผลสำคัญมาจากขวดประเภทนี้เป็นขวดที่สามารถนำมารีไซเคิลได้แบบ 100% เมื่อบวกกับเวลาขายให้ร้านขายของเก่าแล้วราคาดีสุด ผู้คนจำนวนไม่น้อยจึงยินดีจะนำมาสร้างรายได้มากกว่าทิ้งไปเฉย ๆ

จุดเด่นของขวดประเภทคือความเหนียวของเนื้อพลาสติก อีกทั้งยังใสแวววาวกว่าขวดพลาสติกชนิดอื่น แข็งแรงทนทาน ไม่แตกหรือเปราะง่าย ปลอดภัย จึงทำให้ถูกนำมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์กันเยอะมาก แต่หากทิ้งลงถังขยะเฉย ๆ ต้องใช้เวลาในการย่อยสลายถึง 450 ปี!

บทความนี้เราจึงอยากแชร์เกี่ยวกับการทำขวด PET มารีไซเคิลเป็นผ้าโพลีเอสเตอร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ Media AA สนับสนุนและนำผ้าที่ถูกรีไซเคิลมาใช้ในผลิตภัณฑ์ของเรา

การใช้งานขวด PET มีส่วนสำคัญต่อการดูแลสิ่งแวดล้อม

ตามที่อธิบายไปว่าขวด PET ถือเป็นตัวเลือกในการช่วยลดปัญหาโลกร้อนไม่ใช่เรื่องเกินความจริง เพราะถึงแม้จะเป็นพลาสติกประเภทหนึ่งแต่ความพิเศษที่มากกว่านั่นคือสามารถรีไซเคิลได้ ซึ่งถ้าลองเทียบจากข้อมูลเหล่านี้จะพบว่าขวด PET ถือเป็นขวดที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

  • การใช้ขวด PET สามารถรีไซเคิลได้สูงสุดถึง 10 ครั้ง ลดการเกิดขยะจากการใช้แล้วทิ้งเพียงครั้งเดียว (Single-use plastic)
  • เมื่อทำการรีไซเคิลขวดพลาสติก 1 ตัน จะช่วยเซฟพื้นที่ฝังกลบขยะถึง 5.7 ลูกบาศก์เมตร ไม่ต้องเจอปัญหาขยะล้นโลกอีกด้วย
  • การรีไซเคิลขวดพลาสติก 1 ตัน เซฟการใช้น้ำมันดิบถึง 3.8 บาร์เรล (ราว 604 ลิตร) เลยทีเดียว
  • การนำขวดพลาสติกมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลยังช่วยลดปริมาณมลพิษในอากาศซึ่งมีสาเหตุจากการเผาขยะ รวมถึงมลพิษในดินจากการฝังกลบ ลดปัญหาไมโครพลาสติกปนเปื้อนตามแหล่งน้ำ

เปลี่ยนขวดพลาสติก PET สู่ผ้าโพลีเอสเตอร์กันเถอะ

ถ้ามองให้ลึกลงไปการนำขวดพลาสติก PET มาผ่านกระบวนการรีไซเคิลถือว่าได้ประโยชน์แบบรอบด้านทุกฝ่าย ผู้บริโภคเมื่อใช้แล้วยังสามารถนำไปขายต่อเพื่อเสริมรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ ผู้ผลิตเองก็มีต้นทุนถูกลง และที่สำคัญโลกใบนี้ยังน่าอยู่มากขึ้นอีกด้วย ซึ่งการรีไซเคิลขวดพลาสติกโดยทั่วไปแล้วสามารถเปลี่ยนเป็นผ้าโพลีเอสเตอร์ได้ โดยขั้นตอนเบื้องต้นคือ

  • ขวดพลาสติกถูกบดอัดเป็นเกล็ด
  • ผ่านการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรค
  • ทำการหลอมใหม่ให้กลายเป็นเม็ดพลาสติก หรือทำการฉีกเพื่อให้เป็นเส้นใย

เมื่อผ่านกระบวนการเรียบร้อยแล้วสิ่งที่ได้จะถูกเรียกว่า rPET (Recycled Polyethylene Terephthalate) ซึ่งความพิเศษอยู่ตรงที่สามารถนำมาแปรสภาพให้เป็นผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบอย่างไม่น่าเชื่อ ดังนี้

เสื้อผ้า

จุดเด่นของ rPET ต้องยกให้กับน้ำหนักเบา แห้งง่าย ไม่ยับ ป้องกัน UV จึงเหมาะกับการนำมาทำเสื้อผ้า หรือผสมกับเส้นใยอื่น ๆ เช่น เรยอน ลินิน ฝ้าย ไหม ก็ช่วยเพิ่มคุณภาพให้ผลิตภัณฑ์ออกมามีคุณภาพมากขึ้นกว่าเดิม ตัวอย่างการนำเอา rPET มาใช้ทำเสื้อผ้า เช่น เสื้อโปโล 1 ตัว ใช้ขวด PET 5 ใบ เสื้อเชิ้ตแขนยาว 1 ตัว ใช้ขวด PET 16 ใบ เป็นต้น

ใยสังเคราะห์

สามารถนำไปใช้ใตอุตสาหกรรมสิ่งทอได้หลายประเภทมาก เช่น การทำใยสังเคราะห์ในหมอน โซฟา เบาะ ตุ๊กตา หรือแม้แต่ถักทอให้เป็นพรมเช็ดเท้า ซึ่งปกติใยสังเคราะห์ 1 กิโลกรัม จะใช้ขวด PET ประมาณ 60 ใบ

กระเป๋าเป้ / ถุงผ้า

อีกไอเทมยอดฮิตที่สามารถนำเอา rPET มาทำเป็นผลิตภัณฑ์จากผ้าโพลีเอสเตอร์ได้อย่างน่าประทับใจ ด้วยจุดเด่นทั้งความเหนียวและเบา เมื่อผลิตออกมาแล้วกระเป๋าหรือถุงผ้าจะมีความหนา แข็งแรง ใส่ของหนักแบบไม่ต้องกังวลใจ เฉลี่ยแล้วกระเป๋าเป้ 1 ใบ ใช้ขวด PET 11 ใบ ส่วนกระเป๋าผ้า 1 ใบ ใช้ขวด PET 4 ใบ

รองเท้าผ้าใบ

จัดว่ากำลังเป็นกระแสมาแรงมาก ซึ่งหลายแบรนด์ดังก็ขาย Gimmick นี้อยู่พอสมควร ซึ่งเส้นใยโพลีเอสเตอร์ rPET ใช้ทำรองเท้าผ้าใบได้ทุกส่วน รับแรงกระแทกดี น้ำหนักเบา ซึ่งรองเท้าผ้าใบ 1 คู่ ใช้ขวด PET 30 ใบ

ชุดป้องกันส่วนบุคคล

ชุด PPE เป็นชุดที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องใช้งานกันเยอะสำหรับป้องกันเชื้อโรคและสารเคมีต่าง ๆ โดย 1 ชุด ใช้ขวด PET 18 ใบ และสามารถใช้ซ้ำได้ถึง 20 ครั้ง เลยทีเดียว

จากกระบวนการเหล่านี้คุณเองก็สามารถเป็นหนึ่งในคนที่ดูแลโลกได้ เริ่มจากเลือกขวดพลาสติก PET ไม่มีสี แล้วอาจลอง Reuse โดยใช้ไอเดียสร้างสรรค์ก่อน แต่ถ้าไม่เวิร์คก็ทิ้งลงถัง Recycle แล้วขวดก็จะตรงไปสู่โรงงานรีไซเคิลในลำดับต่อไป